ลดบริโภคเค็ม ลดโรคไต |
ปัจจุบันมีผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่รอการผ่าตัดเปลี่ยนไตใหม่ประมาณ 4,000 ราย ซึ่งมีขั้นตอนในการรักษาที่ยุ่งยาก และเสียค่าใช้จ่ายสูงประมาณ 2 แสนบาทต่อคน
คนไทย ป่วยเป็นโรคไตเรื้อรังร้อยละ 17.6 ของประชากร หรือประมาณ 8 ล้านคน เป็นผู้ป่วยระยะสุดท้าย 2 แสนคน และมีผู้ป่วยใหม่เพิ่มขึ้นปีละกว่า 7,800 ราย
ผู้ป่วยเหล่านี้ หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง จะเกิดโรคแทรกซ้อนถึงชีวิต
ปัจจุบันมีผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่รอการผ่าตัดเปลี่ยนไตใหม่ประมาณ 4,000 ราย ซึ่งมีขั้นตอนในการรักษาที่ยุ่งยาก และเสียค่าใช้จ่ายสูงประมาณ 2 แสนบาทต่อคน ในแต่ละปีมีผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดปลูกถ่ายไตเพียง 400 รายเท่านั้น เพราะขาดแคลนผู้บริจาคไต ผู้ป่วยจึงต้องรักษาเพื่อยืดอายุโดยวิธีฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม หรือล้างของเสียออกทางหน้าท้อง
ศ.เกียรติคุณ พญ.ธัญญารัตน์ ธีรพรเลิศรัฐ ประธานฝ่ายการศึกษาวิชาการและฝึกอบรม โรงพยาบาลสถาบันโรคไตภูมิราชนครินทร์ กล่าวว่า “ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้ายที่ต้องล้างช่องท้องหรือฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมหรือปลูกถ่ายไตมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งสถิติการสำรวจล่าสุดเมื่อปี พ.ศ. 2555 พบว่าสูงถึง 58,385 ราย และมีผู้ป่วยใหม่ถึงปีละ 14,249 ราย การรักษาโดยการทำไตเทียม มีค่าใช้จ่ายสูงมาก คนละ 2 แสนบาทต่อคนต่อปี
ถ้าคำนวณค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยทั้งประเทศจะสูง 8,000 ล้านบาทต่อปี นับเป็นภาระหนักของผู้ป่วย ครอบครัว และเศรษฐกิจของประเทศ รวมถึงคุณภาพชีวิตของบุคลากรที่เป็นทรัพยากรของชาติ อีกทั้งการขาดแคลนแพทย์และพยาบาลผู้เชี่ยวชาญในเรื่องโรคไต ในการรองรับการดูแลผู้ป่วยเหล่านี้ได้ทั่วถึง จึงเป็นปัญหาที่เผชิญกันอยู่ในปัจจุบัน ดังนั้น การรณรงค์เพื่อป้องกันการเกิดโรคไตจึงเป็นเป้าหมายสูงสุดมากกว่าการตั้งรับแต่เพียงอย่างเดียว”
สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดโรคไตคือพฤติกรรมการบริโภคที่ไม่ถูกต้อง กินอาหารรสเค็มหรืออาหารที่มีส่วนประกอบของโซเดียมเป็นประจำ
นพ.ภานุมาศ ญาณเวทย์สกุล รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า “โรคไตกำลังเป็นปัญหาใหญ่ในระดับทั่วโลกในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ทำให้องค์การอนามัยโลกออกมาเตือนประเทศสมาชิก ต้องลดการบริโภคเกลือลง ร้อยละ 30 ซึ่งหมายถึงการลดการบริโภคเค็มลง จะช่วยประหยัดค่ารักษาพยาบาลให้กับภาครัฐได้ปีละหลายหมื่นล้านบาท และยังลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคเรื้อรัง เช่น ความดัน เบาหวาน โรคไต โรคหัวใจ ลงซึ่งคิดเป็นความสูญเสียทางเศรษฐกิจและสุขภาพลงได้ ทั้งนี้คนไทยมีแนวโน้มป่วยเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ สาเหตุส่วนใหญ่ที่สุดร้อยละ 70 เกิดจากเบาหวานและความดันโลหิตสูง ซึ่ง 2 โรคนี้มีสถิติผู้ป่วยรวมเกือบ 15 ล้านคน
ด้าน รศ.พญ.อุมาพร สุทัศน์วรวุฒิ กรรมการบริหารแผน 5 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ปัจจุบันประชาชนทุกกลุ่มวัยมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง อาทิ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หลอดเลือดหัวใจมากขึ้น ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่ไม่ถูกต้อง ทั้งอาหารที่มีรสจัดหวาน มัน เค็ม ขาดการบริโภคผักและผลไม้อย่างเพียงพอตามเกณฑ์ที่องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำ คือ บริโภคผักและผลไม้ 400-500 กรัมต่อวัน รวมทั้งการมีกิจกรรมการเคลื่อนไหวร่างกายไม่เพียงพอ โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กนั้นพบว่า มีทั้งภาวะโภชนาการขาดและเกิน ส่งผลให้เด็กมีพัฒนาการทั้งร่างกายและสติปัญญาที่ไม่เหมาะสมตามวัยมากขึ้น ซึ่งมักมีสาเหตุมาจากการบริโภคเครื่องดื่ม ที่มีรสหวาน ขนมขบเคี้ยวต่าง ๆ ที่มีส่วนประกอบหลัก คือ แป้ง นํ้าตาล โซเดียม ในปริมาณสูง นอกจากนี้ยังได้มีการจัดทำโครงการ การส่งเสริมนวัตกรรมอาหารเพื่อลดการบริโภคเค็ม มีจุดมุ่งหมายเพื่อ ลดปริมาณโซเดียมในผลิตภัณฑ์อาหาร โอทอป โดยมีแนวคิดเพื่อลดปริมาณโซเดียมในผลิตภัณฑ์อาหารที่ไม่ควรเค็มแต่เค็ม โดยในปีแรกนี้ได้เลือกอาหาร 10 ชนิด ประกอบด้วย ข้าวตัง กล้วยฉาบรสเค็ม กล้วยฉาบรสหวาน คุกกี้ ทองม้วนรสเค็ม ทองม้วนรสหวาน ถั่วกรอบแก้ว หมี่กรอบ นํ้าพริก ปลากรอบ ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีสามารถช่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของประชาชนได้ในระดับหนึ่ง
ด้าน ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม กล่าวว่า คนไทยจะต้องลดอาหารเค็ม เพื่อรักษาไต จากการสำรวจพบว่าคนไทยบริโภคเกลือและโซเดียมสูงเกินกว่าที่แนะนำถึง 2 เท่า คือเกลือ 10.8 กรัม หรือโซเดียม 4,000 มิลลิกรัมต่อวัน การรับประทานอาหารรสเค็มจัด จะส่งผลให้ความดันโลหิตสูงเพิ่มการรั่วของโปรตีนในปัสสาวะ และยังมีผลเสียต่อไตโดยตรง ทำให้หัวใจทำงานหนักก่อให้เกิดภาวะหัวใจวายและความดันโลหิตสูง ความดันในสมองเพิ่มขึ้น มีโอกาสเป็นโรคอัมพฤกษ์ อัมพาตได้
ปัญหาของผู้ป่วยโรคไต นับว่าเป็นปัญหาที่สำคัญในระดับชาติ ปัจจุบันผู้ป่วยโรคไตมีอายุเฉลี่ยที่น้อยลง ส่วนหนึ่งมาจากการบริโภคอาหารที่มีรสเค็มจัด ขนมขบเคี้ยวที่มีรสเค็ม หรือพฤติกรรมการรับประทานอาหาร ที่มักจะต้องเติมนํ้าปลาหรือนํ้าปลาพริกทุกมื้อ
สำหรับผู้ป่วยโรคไตนั้น มีหลากหลายสาเหตุและสามารถป้องกันได้ ถ้าได้รับการรักษาแต่เนิ่น ๆ เช่น การควบคุมโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงให้ดี แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ผู้ป่วยโรคไตบางคนละเลยการรักษา ทำให้ไตวายอย่างรวดเร็วจนเสียชีวิต ดังนั้นผู้ป่วยโรคไต ควรปฏิบัติดังนี้ 1. พบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ 2. ควบคุมความดันโลหิตให้น้อยกว่า 130/80 และระดับนํ้าตาลในเลือด 3. ควบคุมการทานอาหารรสเค็ม และจำกัดอาหารประเภทโปรตีน โดยให้บริโภคเกลือไม่เกินวันละ 5 กรัม ถ้าเทียบเป็นปริมาณโซเดียมก็ไม่ควรเกิน วันละ 2,000 มิลลิกรัม ซึ่งปริมาณดังกล่าวเทียบเท่ากับเกลือ 1 ช้อนชา 4. หลีกเลี่ยงการใช้ยาแก้ปวด ยาหม้อ ยาชุดโดยไม่ปรึกษาแพทย์ 5. เลิกบุหรี่และงดดื่มสุรา และ 6. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
ขอขอบพระคุณนสพ.เดลินิวส์ สุขภาพ-ความงาม และต้องขอขอบคุณ บจก. ไทย พรอสเพอรัส ไอที ผู้นำด้านการให้บริการระบบจีพีเอสติดตามยนต์ จำหน่ายสินค้าคุณภาพ มาตรฐานชั้นนำระดับโลก นำเข้าจากโรงงานผู้ผลิตโดยตรง ตรงรุ่น ตรงยี่ห้อ ตัดปัญหาคุณภาพของสินค้าที่ลอกเลียนแบบไม่ได้คุณภาพ
Sign up here with your email
ConversionConversion EmoticonEmoticon